- ThungChang Nan
Hmong nam sod
npan nam sod
ชนเผ่าม้ง เป็น กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศจีน และ ประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ คือ เวียดนาม พม่า ลาว และ ประเทศไทย ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง คือ “ม้ง” ภาษาม้ง “ม้ง” ภาษาไทย “ม้ง” ภาษาอังกฤษ “Hmong” ม้ง ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ม้งขาว เรียกตนเองว่า “ม้ง เด๊อว” (Hmong Daw / Hmoob Dawd) และม้งเขียว เรียกตนเองว่า “ม้ง จั๊ว” (Hmong Njua / Moob Ntsuad)
บ้านน้ำสอด
ประเพณีและการละเล่นประจำปี
ประเพณีปีใหม่ม้ง
ประเพณีขึ้นปีใหม่ หรือ ประเพณีฉลองปีใหม่ จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ในรอบปีเรียบร้อยแล้วประเพณีฉลองปีใหม่ เรียกว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชนเผ่าม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย (เดือนที่ 12) ของปี จึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ในวันดังกล่าว หัวหน้าครัวจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ การทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปีวันถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน เป็นวันฉลองปีใหม่
กิจกรรมการละเล่นที่บรรดาหนุ่มสาวนิยมเล่นกัน ในเทศกาลปีใหม่ คือ การโยนลูกช่วง ลูกช่วงที่ใช้เล่นนั้นทำขึ้นจากเศษผ้าสีดำ เย็บต่อเชื่อมกันเป็นลูกกลม โดยหญิงสาวโสดจะเป็นผู้จัดทำลูกบอลผ้า โดยฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายเลือกชายหนุ่มที่พอใจ แล้วนำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เพื่อชวนไปโยนลูกช่วงด้วยกัน โดยแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากัน มีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมา สามารถทำการสนทนากับคู่ที่โยนได้ เพื่อความสนุกสนาน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงประกอบเพลงพื้นเมืองของเด็กสาวชนเผ่าม้ง และมีการแสดงการเป่าแคนของชนเผ่าม้ง ที่จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่างๆ เท่านั้น
ประเพณีกินข้าวใหม่
ประเพณีกินข้าวใหม่ ของชนเผ่าม้ง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณมีความเชื่อว่าจะต้องเลี้ยง ผีปู่-ผีย่า เพราะช่วงเวลาในหนึ่งรอบปีที่ผ่านมานั้น เชื่อว่ามี ผีปู่-ผีย่า ได้ดูแลครอบครัวของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมีการเซ่นบูชา ผีปู-ผีย่า พร้อมกับเจ้าที่ทุกตน ซึ่งการกินข้าวใหม่จะทำกันในเดือนตุลาคมของทุกปี ข้าวใหม่ คือข้าวที่เก็บเกี่ยวเมื่อต้นข้าวเริ่มสุก ให้รวงข้าวมีสีเขียวปนเหลือง เมื่อเกี่ยวเสร็จก็จะนำมานวดให้ข้าวเปลือกหลุดออก โดยไม่ต้องตากให้แห้ง นำข้าวเปลือกที่นวดเรียบร้อยแล้วมาคั่วให้เม็ดข้าวแข็งและเปลือกข้าวแห้ง ในอดีตนั้น นิยมการตำข้าวด้วยโค้กกระเดื่อง เมื่อตำเสร็จเรียบร้อยนำข้าวมาหุงเพื่อเซ่นไหว้ผีปู่-ผีย่า ซึ่งในการทำพิธีเซ่นผีนั้น สามารถทำโดยการนำไก่ตัวผู้มาเซ่นไหว้ตรงผีประตูก่อน โดยการนำไก่ที่ต้มทั้งตัวมาประกอบพิธีซึ่งตำแหน่งที่จะต้องเซ่นไหว้มี 5 แห่ง ได้แก่ สื่อก๋าง ดั้งขอจุ๊บ ดั้งขอจุด ดั้งขอจ่อง ดั้งจี้ดั้ง ขณะทำพิธีต้องสวดบทสวดเพื่อที่บอกให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือได้รับรู้และเข้ามาทานก่อน เมื่อทำพิธีเสร็จคนในบ้านถึงจะสามารถ ทานต่อได้ พิธีกินข้าวใหม่นั้นได้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน